หลังจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เป็นเหมือนตัวเร่งปฏิกิริยาพฤติกรรมผู้บริโภคให้เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เทรนด์ช้อปปิ้งออนไลน์เติบโตอย่างมาก ธุรกิจหลายแห่งจึงต้องปรับตัวไปเปิดร้านค้าออนไลน์กันมากขึ้น
ร้านค้าออนไลน์มีทั้งการขายของบนเว็บไซต์ หรือที่เราเรียกกันว่า E-Commerce เป็นการขายสินค้าและบริการผ่านเว็บไซต์ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ของตัวเอง หรือการไปลงใน Marketplace เจ้าดัง ๆ ในตลาด
ส่วนอีกช่องทางหนึ่งคือเปิดร้านบนโซเชียลมีเดีย เรียกว่า S-Commerce (Social Commerce) หรือ C-Commerce (Conversational Commerce) ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากเพราะถูกผลักดันจากเจ้าของแพลตฟอร์ม เช่น Facebook ที่ปล่อยฟีเจอร์ใหม่ ๆ บน Messenger และ Instagram เพื่อรองรับการซื้อขายผ่านข้อความ
ช่องทางการขายออนไลน์ทั้ง 2 ประเภทมีจุดเด่นแตกต่างกัน และเหมาะสมคนละแบบ ในบทความนี้ทำให้คุณเข้าใจมากขึ้น และจะช่วยให้คุณเลือกลงทุนพัฒนาทางที่เหมาะสมกับธุรกิจของคุณที่สุด
เปิดร้านแบบ E-Commerce

ที่มา: https://www.converse.com/uk
การเปิดร้านออนไลน์บน Website หมายถึงการสร้างเว็บที่สามารถซื้อสินค้าได้ เรียกว่า E-Commerce
ETDA เขียนไว้ว่า E-Commerce (Electronic Commerce) คือ อีคอมเมิร์ซ, พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นการทำธุรกรรมซื้อขาย หรือแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการบนอินเทอร์เน็ต โดยใช้เว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันเป็นสื่อในการนำเสนอสินค้าและบริการต่าง ๆ รวมถึงการติดต่อกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ทำให้ผู้เข้าใช้บริการจากทุกที่ทุกประเทศ หรือทุกมุมโลกสามารถเข้าถึงร้านค้าได้ง่ายและตลอด 24 ชั่วโมง
คุณสามารถทำ E-Commerce ได้ 2 วิธี วิธีแรกคือคุณเปิดเว็บไซต์ของตนเองและสร้างระบบที่สามารถซื้อ-ขายผ่านตัวเว็บได้เลย โดยทุกวันนี้มีผู้ให้บริการระบบหรือแพลตฟอร์มสำหรับการทำ E-Commerce โดยไม่จำเป็นต้องเขียนโค้ดให้ยุ่งยาก
ตัวอย่างแพลตฟอร์ม E-Commerce
- BigCommerce
- Shopify
- 3dcart
- WooCommerce
- Volusion
- Prestashop
- Weebly
- Squarespace
- Magento
- Wix
อีกวิธีที่นิยมคือเปิดร้านในแพลตฟอร์ม Online Marketplace อย่างเช่น Shopee, Lazada, Amazon
ถ้าเทียบกับสร้างเว็บ E-Commerce ของตัวเองก็เป็นทางที่ง่ายและประหยัดกว่า แต่ก็มีข้อเสียอย่างเช่น อาจมีคู่แข่งที่ขายสินค้าเหมือนเราในราคาถูกกว่า, การต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของที่นั้น ๆ อย่างเคร่งครัด รวมถึงไม่สามารถปรับแต่งอะไรได้มากเท่าการมีเว็บไซต์ของตนเอง และบางที่อาจเก็บส่วนแบ่งกำไรจากสินค้าที่ขายด้วย
ดังนั้น เราจึงแนะนำว่าการมีเว็บไซต์ E-Commerce ของตัวเองจะสะดวกและต่อยอดได้มากกว่า
ข้อดีของ E-Commerce
ปรับแต่งได้ 100%
การมีเว็บไซต์เปรียบเสมือนเป็นคุณเจ้าของที่นั้นเอง คุณสามารถออกแบบรายละเอียดตามที่ต้องการได้ทั้งหมด
ลูกค้าดำเนินการด้วยตัวเองได้
บนเว็บไซต์ E-Commerce ที่ออกแบบดี ลูกค้าสามารถดำเนินการสั่งซื้อสินค้าด้วยตัวเองตั้งแต่ต้นจนจบ โดยที่คุณไม่จำเป็นต้องทำอะไรเลยนอกจากรับออเดอร์และส่งของ
เปิด 24 ชั่วโมง
เว็บไซต์ E-Commerce สามารถให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้เพิ่มโอกาสการขายได้สูงขึ้น
ประหยัดต้นทุนการดูแล
สิ่งที่ต้องจ่ายในการดูแลเว็บไซต์ E-Commerce หลัก ๆ มีค่าเซิร์ฟเวอร์ โดเมน ค่าบริการ E-Commerce ซึ่งโดยรวมแล้วประหยัดกว่าเปิดหน้าร้านจริง ๆ
เก็บ Data ได้ละเอียด
เว็บไซต์ E-Commerce สามารถเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานบนเว็บไซต์ได้อย่างละเอียดเพื่อนำมาวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค รวมถึงนำมาสร้างกลุ่มเป้าหมายโฆษณา Re-Targeting บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียได้ด้วย
บทบาทของคนทำ E-Commerce
การทำเว็บไซต์ E-Commerce เป็นการดูแลระยะยาว ไม่ใช่ทำครั้งเดียวแล้วจบ มาดูกันว่าบทบาทของคนทำ E-Commerce มีอะไรบ้าง
ออกแบบเว็บไซต์ให้น่าใช้งาน
เว็บไซต์ที่ออกแบบมาดีช่วยเพิ่มโอกาสขายอย่างมาก ลักษณะเว็บไซต์ที่ดีคือต้องสวยงาม ดูน่าเชื่อถือ และใช้งานง่าย สร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ผู้เข้าชม คุณต้องคอยทดสอบและปรับปรุงเว็บไซต์อยู่เสมอ
ส่งคนเข้าเว็บไซต์
ช่องทางโซเชียลมีเดียของแบรนด์จะมีหน้าที่หลักคือส่งผู้คนไปยังเว็บไซต์ E-Commerce อย่างสม่ำเสมอ
ดูแลระบบหลังบ้านให้เสถียร
ไม่ควรปล่อยให้เว็บไซต์เกิดปัญหาเหล่านี้
- เว็บล่ม
- ลิงก์ใช้งานไม่ได้
- ข้อมูลไม่ถูกต้อง
- สถานะสินค้าผิดพลาด
- ระบบ Tracking ผิดพลาด
เรื่องเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อความมั่นใจในการซื้อของลูกค้า เพราะฉะนั้น คุณควรดูแลระบบหลังบ้านให้เสถียร ทำงานได้ไม่มีปัญหา และเตรียมพร้อมแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว
รักษาความปลอดภัยข้อมูลสำคัญ
ข้อมูลสำคัญของลูกค้า เช่น ชื่อ-สกุล ที่อยู่ เลขบัตรเครดิต เป็นความรับผิดชอบของเจ้าของเว็บ E-Commerce ต้องเก็บรักษาให้ปลอดภัย หากข้อมูลสำคัญของลูกค้าหลุดรั่วไปก็อาจส่งผลเสียร้ายแรงต่อแบรนด์ได้
เปิดร้านแบบ Social Commerce

ที่มา : Facebook
การเปิดร้านบน Social Media เรียกว่า S-Commerce (Social Commerce) คือการมีร้านค้าออนไลน์บน Social Media ในปัจจุบันแพลตฟอร์ม Social Media ต่าง ๆ พัฒนาให้มีฟีเจอร์รองรับการขายของได้มากขึ้น และเน้นการพูดคุยระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย และสามารถกดชำระเงินสินค้าได้ทันที จนมีคำว่า C-Commerce (Conversational Commerce) เกิดขึ้นมา
ตัวอย่างแพลตฟอร์มที่คนนิยมทำ Social Commerce
มีฟีเจอร์ Facebook Shop ที่ให้ลง Catalog สินค้าได้ สามารถเชื่อมต่อ Chatbot เพื่อช่วยดำเนินการสนทนาได้
Instagram พัฒนาฟีเจอร์ใหม่ ๆ เช่น Shopping Tag เพื่อให้คนสามารถกดดูรายละเอียดสินค้าที่อยู่ในรูปได้
LINE
LINE มีบริการ MyShop ที่ผนวก E-Commerce และการแชทผ่าน LINE มาไว้ในที่เดียวกัน ผู้ซื้อสามารถสอบถามรายละเอียดกับผู้ขายได้สะดวกยิ่งขึ้น
ข้อดีของ Social Commerce
เริ่มต้นไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
การสร้างบัญชีธุรกิจบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียส่วนใหญ่ไม่มีค่าใช้จ่าย คุณสามารถใช้งานได้ฟรีจนกว่าคุณจะเริ่มจ่ายค่าโฆษณา
เข้าถึงผู้คนจำนวนมาก
โซเชียลมีเดียมีผู้ใช้งานจำนวนมากอยู่ในแพลตฟอร์ม ยกตัวอย่าง Facebook ในประเทศไทยมีผู้ใช้งานกว่า 47 ล้านคน ทำให้มีโอกาสเข้าถึงผู้คนจำนวนมากได้ง่ายกว่า
เจ้าของแพลตฟอร์มสนับสนุน
ผู้ให้บริการพยายามพัฒนาฟีเจอร์ต่าง ๆ ที่รองรับ Social Commerce และสนับสนุนให้ธุรกิจเปิดร้านค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์มของตัวเองง่ายขึ้น
ประสบการณ์ไร้รอยต่อ
Social Commerce ทำให้ผู้ซื้อง่ายขึ้น เพราะไม่ต้องคลิกออกไปยังเว็บไซต์ หรือหน้าอื่น ๆ เขาสามารถเห็นสินค้า พูดคุย และชำระเงินได้ในที่เดียว
ติดตั้ง Chatbot ได้
ผู้ขายที่มีคนติดต่อมาจำนวนมาก ก็สามารถติดตั้ง Chatbot ช่วยดำเนินการสนทนาที่ไม่ซับซ้อน เพื่อเป็นการประหยัดเวลาทำงานได้ รวมถึงใช้ในการส่งข้อความบรอดแคสต์ไปยังผู้คนจำนวนมากได้อีกด้วย
บทบาทของคนทำ Social Commerce
สนทนากับลูกค้า
หน้าที่หลักของ Social Commerce คือการตอบสนองต่อลูกค้าอย่างรวดเร็ว ใช้ทักษะการเจรจาเพื่อให้ข้อมูล ปิดการขาย และสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า
โน้มน้าวผู้คนให้ทักข้อความ
การทักข้อความคือช่องทางการขายหลักของคุณ ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อให้คนสนใจและอยากจะสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมต่อ และบอกให้พวกเขารู้ว่าคุณยินดีให้บริการ
เรียนรู้ฟีเจอร์ใหม่ ๆ
คู่แข่งเยอะ ต้องได้เปรียบกว่าคนอื่น ด้วยการติดตามใช้ฟีเจอร์ใหม่ ๆ ที่ผู้ให้บริการปล่อยออกมา สร้างความแตกต่างให้กับธุรกิของคุณได้
บริหารทีมแอดมิน
หากมีผู้ทักเข้ามาเป็นจำนวนมาก คุณอาจต้องมีทีมแอดมินที่คอยตอบข้อความ เพราะลูกค้ารอนานไม่ได้
E-Commerce VS S-Commerce เลือกอะไรดี
มือใหม่เพิ่งเริ่มต้น
หากคุณเป็นผู้ประกอบการมือใหม่ถ้าต้องการเริ่มต้นง่าย ๆ เราแนะนำให้เปิดร้านบน Social Media เพื่อทำ S-Commerve ก่อน เพราะไม่มีค่าใช้จ่ายในการ Develop เหมือนเว็บไซต์ สามารถทำได้ด้วยตัวเอง และมีฟีเจอร์รับรองให้ฝึกฝนเบื้องต้น
ต้องการขยายธุรกิจ
แต่ถ้าคุณเป็นผู้ประกอบการระดับกลางขึ้นไปแล้ว มีสินค้าที่ดี ยอดขายสม่ำเสมอ การเปิดร้านบนเว็บไซต์ E-Commerce จะช่วยยกระดับธุรกิจขึ้นไปได้ เพราะสามารถทำโฆษณาระดับ Conversion ที่แม่นยำ สามารถขายได้ทั่วโลก 24 ชม. และยังไม่เสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงกฎต่าง ๆ บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ดังนั้นถ้ามีทุนเพียงพอ ก็เริ่มวางแผนสร้างเว็บไซต์ E-Commerce ได้เลย
ชอบพูดคุยกับลูกค้า
ทีนี้ ถ้านิสัยของคุณชอบพูดคุยกับผู้คน ถนัดการขายแบบตัวต่อตัว คุณอาจเหมาะกับ Social Commerce ที่เน้นการโต้ตอบกับลูกค้า เพราะทักษะนี้จะเป็นตัวตัดสินว่าร้านค้าออนไลน์ของคุณจะประสบความสำเร็จได้เร็วแค่ไหน
ชอบระบบอัตโนมัติ
แต่ถ้าคุณมีนิสัยตรงกันข้าม ชอบอยู่เบื้องหลัง และเสนอสินค้าให้ผู้คนโดยคุณเป็นคนดูแลระบบให้ราบรื่น เน้นใช้ระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยเหลือ และพอจะมีทักษะด้านโปรแกรมเมอร์อยู่บ้าง เราแนะนำให้คุณเปิดร้านบนเว็บไซต์ E-Commerce จะเหมาะสมกว่า
สรุป
การเปิดร้านค้าออนไลน์ทั้ง 2 แบบมีลักษณะเด่นและเหมาะสมแตกต่างกัน แต่ก็สามารถประสบความสำเร็จและสร้างผลกำไรได้ทั้งคู่ ดังนั้นลองเลือกทางที่คุณรู้สึกว่าเหมาะกับตัวเองมากที่สุด เพราะยังมีปัจจัยทางธุรกิจอื่น ๆ อีกมากที่คุณปรับปรุงให้ดีขึ้นได้เช่น สินค้า, แผนการตลาด, กลุ่มเป้าหมาย, การบริการ หมั่นตรวจสอบและ Optimise เพื่อหาหนทางที่ดีที่สุดสำหรับธุรกิจของคุณ